สรุปสภาวะตลาดวัตถุดิบ  คาร์โบไฮเดรต  22-26  สิงหาคม  2565

ข้าวโพด

ราคาข้าวโพดลง  0.15-0.20 บ./กก.  เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนราคาข้าวโพดในไทยลงต่ำสุดในรอบกว่า  6  เดือน  การเก็บเกี่ยวที่มีมากขึ้นในหลายพื้นที่  ทำให้มีข้าวโพดออกสู่ตลาดมากขึ้น  อย่างไรก็ตามสัปดาห์หน้าจะเป็นสัปดาห์สุดท้ายที่นำเข้าข้าวโพดจากเพื่อนบ้านได้อย่างถูกกฎหมาย  ส่วนราคาข้าวโพดชิคาโกขึ้นสูงสุดในรอบ  2  เดือน  หลังการสำรวจผลผลิตของ  Pro Farmer  คาดว่าผลผลิตของสหรัฐจะได้ต่ำกว่าที่คาดจากแล้ง  และเมื่อวันพุธจีนซื้อข้าวโพดยูเครน  ส่ง  ก.ย.  ราคา  320+  เหรียญ/ตัน  ส่วนวันศุกร์ข้าวโพดอเมริกาใต้เสนอขายถึงเอเชีย  ส่ง  ธ.ค.  ราคา  345-352  เหรียญ/ตัน  ส่วนปากีสถานเสนอข้าวโพดใส่ตู้ไปเวียดนาม  325-330


ข้าวสาลี

ราคาข้าวสาลีชิคาโกขึ้น  4.2%  และราคาข้าวสาลีเกรดอาหารสัตว์ตลาดสหราชอาณาจักรขึ้น  5.25  ปอนด์/ตัน  ยูเครนเก็บเกี่ยวข้าวสาลีไปแล้ว  98%  ของพื้นที่เพาะปลูก  ภายใต้ภาวะสงคราม  โดยเก็บเกี่ยวได้ปริมาณ  18.8  ล้านตัน  และยูเครนส่งออกสินค้าเกษตรทางเรือไปแล้ว  1  ล้านตัน  ตั้งแต่ได้ข้อตกลงส่งออกจากทะเลดำ  ส่วนวันศุกร์ฟิลิปปินส์ขอราคาข้าวสาลีเกรดอาหารสัตว์จากออสเตรเลีย  ลงเรือเดือน  ธ.ค.  และ  ม.ค.  แต่ออสเตรเลีย  เสนอแค่เดือน  ม.ค.  เพราะ  ธ.ค.  คิวท่าเรือเต็ม  แต่ฟิลิปปินส์ไม่ซื้อเดือน  ม.ค.

 


มันเส้น

ราคามันเส้นอาหารสัตว์ลง  0.10  บ./กก.  เมื่อเทียบกันสัปดาห์ก่อน  ราคาแอลกอฮอล์ในจีนลงมาเหลือ  6,713  หยวน/ตัน  จาก  6,756  และราคาส่งออกไม่เปลี่ยนแปลง

 


ปลายข้าว

ราคาเฉลี่ยปลายข้าวโรงสีไม่เปลี่ยนแปลง    และราคาปลายข้าวโรงงานอาหารสัตว์ลง  0.20 บ./กก.  เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน


ถั่วเหลือง

ราคาถั่วเหลืองขึ้น 7.8% จีนซื้อถั่วเหลืองส่งก่อนสิ้นปี (ถึงจีนก่อนตรุษจีนปีหน้า) ทั้งจากสหรัฐและอเมริกาใต้รวม 35-40 ลำ (2.2-2.6 ล้านตัน) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาขึ้นมาก ส่วนผลสำรวจถั่วเหลืองที่กำลังปลูกในสหรัฐของ Pro Farmer ได้ผลผลิตโอเค ไม่เสียหายมากเหมือนข้าวโพด (ถั่วต้องการน้ำน้อยกว่าข้าวโพด) แต่ได้ข้าวโพดลากราคาขึ้นมาด้วย อย่างไรก็ตาม สำนักสถิติบราซิลคาดการณ์การเพาะปลูกถั่วเหลืองบราซิลที่จะเริ่มปลูกในเดือน ก.ย. มีพื้นที่เพิ่มขึ้น 3.5% และได้ผลิตเพิ่มขึ้น 21.1%  จากปีก่อน และคาดว่าบราซิลจะส่งออกถั่วเหลืองเมล็ดปริมาณ 92 ล้านตัน สูงเป็นสถิติใหม่


น้ำมันปาล์ม

ราคาน้ำมันปาล์มมาเลเซียขึ้น 73 ริงกิต/ตัน  ราคาน้ำมันปาล์มยังไม่ฟื้น  ตลาดยังคาดว่าสต็อกทั้งในอินโดและมาเลย์จะสูงขึ้นเรื่อยๆหลังผลผลิตของทั้ง 2 ประเทศสูงขึ้นกว่าเดือนก่อน ส่วนราคาน้ำมันปาล์มไทยขึ้น 0.25 บาท


รำข้าว

ราคาเฉลี่ยรำข้าวโรงสีลง 0.20 บ./กก.  และราคารำข้าวโรงงานอาหารสัตว์ไม่เปลี่ยนแปลง  เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน


กากถั่วเหลือง

กากถั่วเหลืองชิคาโกขึ้น 6.4%  ราคากากถั่วได้แรงหนุนจากสภาพอากาศที่แล้งในพื้นที่เพาะปลูกด้านตะวันตกของสหรัฐ  ทำให้เกษตรกรอเมริกาใต้ไม่ยอมขายเมล็ดถั่วเหลืองให้โรงงานสกัด (หวังว่าราคาจะขึ้นต่อ)  เกษตรกรอาร์เจนขายถั่วเหลืองไปแล้วเพียง 52% ของผลผลิต เทียบกัน 65% เมื่อช่วงเดียวกันปีก่อน  ส่วนราคากากถั่วในไทย  แม้มีความพยายามขึ้นราคาตามตลาดโลก  แต่ราคายังไม่ขึ้น  ผู้ใช้ส่วนใหญ่มีสต็อกพอใช้และรอราคาลงก่อน  และราคาน้ำมันถั่วเหลืองขึ้น 2.4%

 


ราคาข้าวโพด 27/8/65  (1/5)

ราคาเฉลี่ยข้าวโพดไทย 10 ปีย้อนหลัง (2555-2564) –Inflation Adjusted

ราคาข้าวโพดไทยมีแนวโน้มเคลื่อนไหวตามฤดูกาล ราคาจะลงต่ำสุดระหว่างการเก็บเกี่ยว  โดยเดือนตุลาคมของทุกปีจะเป็นช่วงเวลาที่ข้าวโพดทางตอนบนของประเทศเก็บเกี่ยวมาก

แต่ปีนี้ การเพาะปลูกเริ่มเร็วกว่าปกติ เพราะฝนมาเร็วกว่าปกติ และจะมีผลทำให้ราคาต่ำสุดมาเร็วกว่าปกติหรือไม่?


ราคาข้าวโพด 27/8/65  (2/5)

ราคาข้าวโพดไทย ปรับราคาตามเงินเฟ้อ (Inflation Adjusted) 2555-2561

ในช่วงที่โลกยังปกติสุขดีอยู่ (ก่อนสงครามการค้าจีน-สหรัฐและโควิด) ราคาข้าวโพดเคลื่อนไหวตามฤดูกาลแบบคาดเดาพอได้โดยราคาต่ำสุดในครึ่งหลังของแต่ละปีได้แก่

ปี 2555  วันที่ 10 ตุลาคม

ปี 2556  วันที่ 12 ธันวาคม

ปี 2557  วันที่ 10 พฤศจิกายน

ปี 2558  วันที่ 31 ตุลาคม

ปี 2559 วันที่ 20 ธันวาคม

ปี 2560  วันที่ 16 กันยายน

ปี 2561  วันที่ 5 กันยายน


ราคาข้าวโพด 27/8/65  (3/5)

ราคาข้าวโพด ปรับราคาตามเงินเฟ้อ (Inflation Adjusted) 2562-2565

แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา  ตั้งแต่ทรัมป์ทำสงครามการค้ากับจีนเมื่อ 3 ปีก่อน  ต่อด้วยโดวิดอีก 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ตลาดแทบจะคาดการณ์ราคาตามฤดูกาลไม่ได้เลย และปีนี้ราคาเริ่มมีทรงจะกลับสู่สภาวะปกติ

ปี 2562  จีนเจอ ASF หนักๆ ราคาสินค้าเกษตรต่ำทั้งปี

ปี 2563  โควิดเริ่มตั้งแต่ต้นปี ก็งงๆ  กันทั้งโลก

ปี 2564  ประเทศไทยเจอโควิดระบาดหนัก เริ่มที่คริสตัลคลับเดือนเมษายน แล้วระบาดไปทั่วประเทศ ผู้ซื้อไทยตั้งรับวิกฤติในประเทศ จนราคาข้าวโพดในไทยต่ำกว่าตลาดโลก ส่งผลให้ไทยส่งออกข้าวโพด และปลายปีเจอค่าระวางเรือแพงมากๆทำให้สินค้าทดแทนข้าวโพดก็แพงไปด้วย ทำให้ราคาข้าวโพดครึ่งปีหลังแพง

ปี 2565  รัสเซียบุกยูเครน วันที่ 24 กุมภาพันธ์  หลังจากนั้นทุกประเทศก็พากันแบนการส่งออกอาหาร  ปั่นราคาสินค้าเกษตรกันจนปั่นป่วน


ราคาข้าวโพด 27/8/65  (4/5)

   

 ราคาชิคาโกก็มีแนวโน้มราคาต่ำสุดช่วงเดียวกับประเทศไทย  เพราะตั้งอยู่ในซีกโลกเหนือเหมือนกัน  ทำให้มีฤดูกาลเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวคล้ายๆกัน

ราคาชิคาโกชี้นำราคาข้าวโพดในไทยค่อนข้างมาก  ตัวอย่างเช่น ปี 2555 (2012)  สหรัฐเจอปัญหาแล้งจัด  จนข้างโพดเสียหายมากและราคาข้าวโพดชิคาโกขึ้นไปสูงสุดเป็นสถิติถึงทุกวันนี้  แต่ในปีนั้นประเทศไทยได้ฝนดีและผลผลิตดี  แต่ราคาชิคาโกก็ดึงราคาข้าวโพดไทยขึ้นไปเป็นสถิติใหม่ในปีนั้นเช่นกัน

แต่ปัจจุบันนี้  บราซิลกลายมาเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดสินค้าเกษตร  แต่บราซิลอยู่ซีกโลกใต้ (เช่นเดียวกับออสเตรเลีย) ซึ่งมีฤดูกาลเพาะปลูกกลับข้าง  สลับกับประเทศในซีกโลกเหนือ  ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการคาดการณ์ราคาสินค้าตามฤดูกาลที่เปลี่ยนไป  โดยบราซิลและอาร์เจนตินาเริ่มปลูกเดือน 9-11  และเก็บเกี่ยวเดือน 2-5


ราคาข้าวโพด 27/8/65  (5/5)

ภาพใหญ่  แม้ผลผลิตในสหรัฐจะเสียหายไปบางส่วนจากแล้ง  จนตลาดชิคาโกขึ้นต่อเนื่องใน 4-5 สัปดาห์ที่ผ่านมา  แต่ไม่เสียหายถึงขั้นวิกฤติ  โดยดูได้จากราคา  ที่อยู่ระดับ 6.60 เหรียญ/บุชเชล  ซึ่งยังต่ำกว่า 8.00+เหรียญ/บุชเชล  ที่ปั่นกันช่วงสงครามยูเครนเริ่มใหม่ๆ

เมื่อคืนวันศุกร์เจอโรม พาเวล  ออกมาพูดหลังประชุม Jackson Hole economic summit  ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะใช้เครื่องมือทุกอย่างในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ (“use our tools forcefully”)  แม้การขึ้นดอกเบี้ยและการทำ QT (Quantitative Tightening)  อาจจะทำให้ธุรกิจหลายแห่งมีปัญหา  และอาจจะทำให้คนตกงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสร้างความยากลำบากให้กับทุกคน แต่การกดเงินเฟ้อเป็นเรื่องสำคัญกว่า (“While higher interest rates, slower growth and softer labor market  conditions will bring down inflation, they will also bring some pain to households and businesses.  These are the unfortunate costs of reducing inflation. But a failure to restore price  stability would mean far greater pain.”)

ประธานธนาคารกลางสหรัฐ  ส่งสัญญาณชัดเจนว่าต้องการเงินเฟ้ออย่างจริงจัง และไม่ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ (“We will keep at it until we are confident the job is done.”)  โดยเป้าเงินเฟ้ออยู่ที่ 2%

ในโลกการลงทุน  มีคำพูดว่า  อย่าสู้กับธนาคารกลางสหรัฐ (Don’t fight the Fed) หมายความว่า  ถ้าธนาคารกลางสหรัฐ  ต้องการให้ของลงราคา  ในระยะยาวราคามันต้องลง  โดยหลังจากที่เจอโรม พาวเวล พูดความยาวเพียง 10 นาที  ดัชนีตลาดหุ้นดาวน์โจนปิดลบ -1,008 จุด หรือลง 3 %  ในวันศุกร์

ส่วนสินค้าวัตถุดิบ  ราคายังไม่ตอบสนองมาก  แต่ในระยะยาว* ถ้า Fed  ต้องการให้เศรษฐกิจชะลอตัว  และคนตกงานมากขึ้น  เพื่อกดเงินเฟ้อ  หมายความว่า  คนจะมีเงินน้อยลง  กำลังซื้อลดลง  และความต้องการบริโภคก็จะลดลง  และความต้องการใช้วัตถุดิบต่างๆ ก็ลดลงตามไปด้วย  ซึ่งความต้องการที่ลดลง  จะส่งผลให้วัตถุดิบต่างๆ ราคาจะต้องต่ำลงไปด้วย  (เมื่อราคาสินค้าต่ำลง  เงินเฟ้อก็จะลงตามที่ Fed ต้องการ)

*กรอบเวลา (timeframe) ของแต่ละคนแตกต่างกัน ระยะยาวของแต่ละคนก็ยาวไม่เท่ากัน รอนานไปอาจเจอบีบ

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart

ไม่มีสินค้าในตะกร้า